จีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้นแค่ 0.1% ชะลอตัวลง 4 เดือนติดต่อกันแม้ได้มาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลแล้ว ทำเศรษฐกิจเสี่ยงติดหล่ม "ภาวะเงินฝืด"
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.1% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบปีที่แล้ว และนับเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศตั้งแต่ปลายเดือนก.ย. ยังไม่สามารถช่วยให้จีนพ้นจากความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (Deflation) ได้
แม้ตัวเลขดังกล่าวจะสอดคล้องกับที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์สคาดการณ์ แต่ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย. ที่ขยายตัวได้ 0.2% เมื่อเทียบรายปี
ทางด้านดัชนีราคาขายส่ง (Wholesale) หรือ PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากผู้ผลิตหรือขายส่งนั้น ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน โดยชะลอตัวลงอยู่ที่ 2.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบปีต่อปี แต่ดีกว่าเล็กน้อยจากโพลล์ของรอยเตอร์สซึ่งคาดการณ์ว่าจะชะลอตัว 2.4% ทั้งนี้หากเทียบเป็นรายเดือนจะปรับตัวลดลง 0.1% เนื่องจากบรรดาโครงการอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานและถูกระงับชั่วคราวในช่วงนอกฤดูกาล ส่งผลให้ความต้องการเหล็กกล้าได้รับผลกระทบ
บลูมเบิร์กระบุว่า แรงกดดันด้านเงินฝืดที่ยังคงมีอยู่ในจีนนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศอื่นๆ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา "ธนาคารกลางสหรัฐ" (เฟด) ได้เปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเดือนธ.ค. ซึ่งกรรมการเฟดส่วนใหญ่เตือนถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าในกลุ่มประเทศ "ยูโรโซน" ก็พุ่งสูงขึ้นในเดือนที่แล้ว
ความกังวลของปักกิ่งก็คือ วัฎจัรราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนให้ช้าลง และส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคธุรกิจจนทำให้การลงทุนต้องหยุดชะงักลง และนำไปสู่การลดเงินเดือนและการเลิกจ้างเพิ่มเติม
ตลอดทั้งปี 2567 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีเดียวกันที่ 1.1%
ขณะที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงหลังจากมีการเปิดเผยข้อมูล โดยดัชนี CSI 300 แทบไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากที่ลดลง 0.5% ก่อนหน้านี้